Sunday, May 27, 2012

เที่ยวพักผ่อนสุดสัปดาห์บนภูเขา & ฝึกทำเมนูอิตาเลี่ยน Pizzoccheri



ภาษาอิตาเลี่ยนวันละคำ วันนี้ขอเสนอคำว่า Verdura
อ่านว่า เว-ดู-รา (Stress คำว่า “ดู”)
ภาษาไทยแปลว่า ผัก
ภาษาอังกฤษ คือ Vegetable
Verdura เว-ดู-รา (Stress คำว่า “ดู”) คำเอกพจน์ ผักหนึ่งชนิด
Verdure เว-ดู-เร (Stress คำว่า “ดู”) คำพหูพจน์ ผักหลายชนิด



สวัสดีค่ะพี่ๆ น้องๆ ที่น่ารักทุกท่าน
วันนี้อยากพามาเที่ยวบ้านบนเขา ที่หมู่บ้าน Zelbio
(อยู่ทางตอนเหนือของอิตาลี ไม่ไกลจากทะเลสาป Como)
พวกเราได้เดินทางไปพักผ่อนเมื่อสองสัปดาห์ก่อน
อากาศค่อนข้างดี ไม่ร้อน ไม่หนาว 17-18c
ช่วงเสาร์ อาทิตย์ ได้ศึกษาสูตรอาหารจากคุณแม่ (แทนคำว่า คุณแม่สามี)
คุณแม่กับคุณพ่อทั้งสองเป็นคนค่อนข้างสมถะ แต่แอคทีฟค่ะ
เกษียณจากการทำงานแล้วทั้งสองคน ไม่อยู่บ้านเฉยๆ ทำโน่นทำที่
ทำพาสต้าที่บ้าน ปลูกผักสวนครัว ปลูกดอกไม้ เลี้ยงแมว 2 ตัว ฯลฯ
มาคราวนี้เอิงได้เรียนวิธีการทำอาหารจากเขต Lombardia ทางตอนเหนือของอิตาลี
คือ Pizzoccheri (ติดตามภาพประกอบ วิธีการทำได้ด้านล่าง)


ก่อนอื่นมาชมภาพดอกไม้สวยๆ กันนิดนึง
ช่วงที่เดินทางไปพักเป็นวันแม่แห่งชาติของอิตาลี 13 พฤษภาคม
เราสองคนเอาดอกไม้ไปให้คุณแม่ด้วย เพราะเธอชอบดอกไม้มาก
ของฝากอย่างอื่นไม่ค่อยอยากได้ แต่ถ้าให้ดอกไม้คุณแม่จะยิ้มน้อยยิ้มใหญ่
มีที่บ้านเยอะเท่าไหร่ก็ไม่เบื่อ อิอิ


















อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าวันนี้จะชวนมาดูวิธีการทำPizzoccheri (พิซซ็อคเครี) 
อาหารจานนี้คืออะไร?
Pizzoccheri คือพาสต้าที่มีลักษณะเป็นเส้นแบน เหมือนริบบิ้น
มีส่วนผสมของแป้ง buckwheat 80% แป้งสาลี 20%
กรรมวิธีนวด การทำคล้ายเส้นพาสต้าโดยทั่วไป
พาสต้าเนื้อจะแน่นและเหนียวกว่า เพราะส่วนผสมจาก buckwheat นั่นเอง



สูตร Pizzoccheri (สำหรับ 6 ที่)
พาสต้า Pizzoccheri 500 gr
ผัก Swiss Chard 400 gr (หั่นเป็นชิ้นพอคำ)
หมายเหตุ --- บางสูตรใช้ Savoy Cabbage แทน แล้วแต่ชอบ
มันฝรั่ง 3 ลูก (หั่นลูกเต๋า)
เนยจืด 200 gr (หั่นเป็นแว่นๆ)
ใบ Sage 3-4 ใบ (หั่นเป็นเส้นเล็กๆ)
เกล็ดชีสพาเมซาน 200 gr
ชีส Fontina หรือ ชีส Valtellina Casera (หั่นลูกเต๋า) 200 gr
เกลือ 2 ช้อนชา

วิธีทำ
ต้มน้ำให้เดือดในหม้อใบใหญ่ เติมเกลือลงไป
ใส่ผัก Swiss Chard (หรือ Savoy Cabbabge) และมันฝรั่งลงไปต้มพร้อมกัน
ต้มประมาณ 20 นาที ส่วนผสมจะเริ่มนิ่ม
จากเริ่มตั้งไฟในกระทะใบใหญ่ ใส่เนยลงไปละลาย แล้วเติมใบ sage ที่หั่นฝอยลงไป
(ระวังอย่างให้เนยไหม้ ใช้ไฟอ่อนๆ)
ระหว่างนั้นก็ต้มเส้นพาสต้า Pizzoccheri ในหม้ออีกใบหนึ่ง
เมื่อพาสต้าสุกแล้วเติมลงไปในกระทะผสมกับเนย และใบ sage
จากนั่นเติมผัก Swiss Chard และมันฝรั่งที่ต้มสุกแล้วลงไป
เติมชีสพาเมซาน และชีส Fontina (หรือ Valtellina Casera)
คลุกเคล้าให้เข้ากัน ตักเสิร์ฟรับประทานได้ทันที

Note
Pizzoccheri (พิซซ็อคเครี) จัดเป็นอาหารคอร์สแรก Primo
แต่ถือเป็นจานที่ค่อนข้างหนัก เพราะมีส่วนผสมชีส เนย มันฝรั่ง ฯลฯ
จึงไม่นิยมรับประทานอาหารคอร์สที่สองต่อ
ครอบครัวอิตาเลี่ยนส่วนใหญ่จะทานแค่จานนี้จานเดียว
หรืออยากมากก็ทานอาหารเรียกน้ำย่อย Antipasti ก่อน
แล้วตามด้วยอาหารคอร์สที่หนึ่ง... เป็นอันจบพิธี 555+ (เพราะอิ่มมาก)



มาชมภาพประกอบกันค่ะ
ก่อนลงมือทำ บอกคุณพ่อกับคุณแม่ว่าจะถ่ายรูปด้วย
หนูอยากเอาไปลง blog ... คุณพ่อใจดีช่วยจัดฉากเตรียมส่วนผสม
พร้อมสำหรับการถ่ายรูป 555+


ส่วนประกอบสำหรับทำ Pizzoccheri















มันฝรั่งหั่นลูกเต่า กับ Swiss Chard (ภาษาอิตาเลี่ยนคือ Coste)


















ในหม้อใบใหญ่ ต้มมันฝรั่งกับผัก Swiss Chard ลงไปพร้อมกัน
ต้มประมาณ 20 นาที ใช้ไฟปานกลาง

















ใบ Sage (ภาษาอิตาเลี่ยน Salvia) หั่นเป็นเส้นฝอยๆ

















เกล็ดชีสพาเมซาน และชีส Fontina หั่นลูกเต๋า

















ละลายเนยลงในกระทะ
เมื่อเนยเริ่มละลาย เติมใบ sage ที่หั่นไว้แล้วลงไป



















ต้มเส้นพาสต้า Pizzoccheri ให้สุก
ผสมส่วนประกอบทุกอย่างเข้าด้วยกันในกระทะหรือหม้อใบใหญ่
คลุกเคล้าด้วยชีส เสิร์ฟใส่จาน

Pizzoccher พิซซ็อคเครี ... พร้อมรับประทาน

















Antipasti ... Sulami และผักดอง เช่น หัวหอม แตงกวา ฯลฯ



















วันต่อมา หัดทำเส้นพาสต้า Tagliatelle
นวดแป้ง รีดแป้ง แล้วตัดเส้น จากนั้นนำมาผึ่งไว้ เส้นจะได้ไม่ติดกัน

















อาหารมื้อค่ำของวันต่อมา
คือ เนื้อบดอบสอดไส้ผักโขม (เดี๋ยววันหลังจะนำสูตรมาฝากกันนะคะ)
รับประทานกับมันฝรั่ง และแครอท

















มาชมสวนผักของคุณพ่อกันค่ะ
ปลูก Cabbage, Swiss Chard, ผักสลัดต่างๆ ฯลฯ

















ต้นหอมก็มี Onions (ภาษาอิตาเลี่ยน Cipolle)

















เดินเที่ยวรอบๆ หมู่บ้าน Zelbio บนเขา
ช่วงนี้ดอกไม้กำลังบาน เจอดอก Wisteria พุ่มสีม่วงอ่อน กลิ่นหอมมาก
(Wisteria = ภาษาอิตาเลี่ยน Glicine)

















Forget me not ดอกไม้ยอดฮิต ขึ้นตามภูเขา ทุ่งหญ้าในอิตาลี

















ดอกไม้สีม่วงนี้ชื่อ Veronica

















ดอกสีขาวคือดอกจากต้นสตรอเบอร์รี่ป่า ที่ขึ้นอยู่ตามเนินเขา

















ดอกเดซี่สีขาว ขึ้นอยู่ทั่วไปตามเชิงเขา
Daisy = ภาษาอิตาเลี่ยน Margherita

















อุปกรณ์ ของเล่นชิ้นใหญ่ “กล้องดูดาว” บนระเบียงหลังบ้าน
Hobby ของคุณพ่อตอนหัวค่ำหรือเช้ามืด คือดูดาวค่ะ ^^

















เอ๊ะ... นั่นใครมานอนอยู่บนระเบียง ใต้ขอนไม้

















น้องแมว Penny นั่นเอง เธอหาที่ประจำได้แล้ว
นอนเล่นอยู่ใต้ขอนไม้ (ทำเป็นกระถางต้นไม้) ตรงระเบียงหลังบ้าน 55+




















*Thank You*
ขอบคุณ “ป้าแอ๊ก” ปลาทอง9 สำหรับของฝากจากเจแปนค่ะ
ป้าแอ๊กส่งขนมมาให้ใส่กล่อง ว้าวๆๆๆ แอบทานไปบางชิ้นแล้ว อร่อยจัง
(คุณผู้ชายที่บ้านมาขอทานด้วย ... รายนั้นชอบขนมมาก ทานได้ไม่เบื่อ อิอิ)
และมีโปสการ์ดส่งมาจากญี่ปุ่น สวยสดใส ขอบคุณป้ามากๆ ค่ะ














ช่วงนี้อาจไปทักทายเพื่อนๆ ช้าหน่อย ต้องขออภัย
ที่มิลานอากาศดี แดดแจ่ม ฟ้าใสแทบทุกวัน
จขบ. ออกไปลัลล้า ตักตวงเวลานอกบ้านนิดนึง

ช่วงนี้แวะเที่ยวบ้านบนเขาค่อนข้างบ่อย เพราะอากาศดี
แถมได้ช่วยคุณพ่อคุณแม่ปลูกผัก ต้นไม้ ดอกไม้ ทำอาหาร ฯลฯ
ไว้วันหลังถ้ามีสูตรเมนูอิตาเลี่ยนอร่อยๆ จะนำมาฝากกันอีกแน่นอน
ขอบคุณที่แวะมาชมภาพบรรยากาศสดใสร่วมกันค่ะ



ปล. เอนทรี่นี้อยู่ใน สาขาไกลบ้าน/ชีวิตในต่างแดน ค่ะ

Sunday, May 20, 2012

Macarons & Rose Butter Cream



ภาษาอิตาเลี่ยนวันละคำ วันนี้ขอเสนอคำว่า Rosa
อ่านว่า รอ-ซา (Stress คำว่า “ซา”)
ภาษาไทยแปลว่า กุหลาบ, สีชมพู
ภาษาอังกฤษ คือ Rose, Pink




สวัสดีพี่ๆ น้องๆ ที่น่ารักทุกคนค่ะ
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีโอกาสได้ฝึกทำ macarons
ได้รับแรงบันดาลใจจาก “พี่ปอนด์” น้าปังปอนด์
เพราะเข้าไปดูสูตรบ่อยๆ เพื่อศึกษาเทคนิค วิธีการทำ
เพื่อนบล็อกเกอร์ที่คนนึงที่ช่วยให้คำปรึกษาเรื่องเตาอบ
คือ “คุณนก” LoveParadise ขอบคุณ คุณนกมากๆ นะคะ

ภาพที่นำมาให้ดูวันนี้ไม่ใช่การทำครั้งแรก
ช่วงแรกๆ นั้น ขา(กระโปรง) macarons จะบานออกข้าง 555+
หรือไม่ก็หน้าเกรียมนิดๆ ... อิอิ
ต้องลองทำอย่างน้อย 3-4 ครั้ง ถึงจะรู้ใจ รู้ทางกับเตาอบที่บ้าน
สรุปว่าเตาอบที่บ้านไฟบนค่อนข้างแรงค่ะ
ปรับไปปรับมา ลงตัวอยู่ที่ 140c วางชั้นลางสุดของเตา
ไม่เปิดพัดลมและต้องอบนานกว่าสูตรทั่วไปนิดนึง หุหุ

มาดูสูตรกันดีกว่า
สูตรนี้มาจาก Strawberry Macarons ของพี่ปอนด์ (น้าปังปอนด์)
ลิงค์สูตรเต็มๆ อยู่ที่นี่ค่ะ
Strawberry Macarons โดย น้าปังปอนด์

แต่แทนที่จะทำสตรอเบอร์รี่บัตเตอร์ครีม
เอิงเปลี่ยนมาใช้แยมกุหลาบ Rose Butter Cream แทน


Macarons สูตร (ไข่ 1 ฟอง ) ทำได้ 10 คู่
(ขอเอาสูตรของพี่ปอนด์มาให้ดูเต็มๆ นะคะ เพราะอธิบายไว้ค่อนข้างละเอียด)

ไข่ขาวแยกไว้ในตู้เย็นอย่างน้อย 2-3 วัน 35 กรัม
อัลมอนต์มีล (ใครจะซื้อมาบดเองก็ไม่ว่ากัน) 43 กรัม
น้ำตาลไอซิ่ง 63 กรัม
น้ำตาลล่ะเอียด 23 กรัม
สีผสมอาหาร 
(เอนทรี่นี้ใช้สีฝุ่นแดงและสีน้ำเงินนิดๆ ผสมกัน)


วิธีทำ
1 เอาอัลมอนต์กับน้ำตาลไอซิ่งบดรวมกัน
2 กรองด้วยกระชอนเพื่อจะได้เนียนสวย พักไว้
3 ตีไข่ขาวค่อยๆไล่สปีดจนสปีดสูงสุดทะยอยใส่น้ำตาลทรายลงไป
ตีจนตั้งยอดอ่อนแล้วใส่สี ตีต่อจนเกือบแข็งจะเห็นเป็นมันเงาวาว 
(ถ้าตีจนแข็งเกินจะได้มาการองที่แห้งไม่อร่อย)
4 เอาส่วนของอัลมอนต์ที่พักไว้มาผสมในส่วนไข่ขาว
5 ตะล่อมให้เข้ากัน 
สำคัญมากๆถ้าตะล่อมมากไปส่วนผสมเหลว ใช้ไม่ได้ขาไม่งอกค่ะ
แถมมีฟองอากาศใหญ่แทรกตัวอีก
ถ้าน้อยไปอาจจะยังมีฟองอากาศหลงเหลืออยู่เวลาอบจะมี air pockets
6 พักผิวให้แห้ง ทดสอบดูใช้นิ้วแตะขอบๆขนมและผิวด้านบนของขนม
การพักผิวทำให้โครงสร้างผิวของมาการองแข็งแรง อบแล้วไม่แตก มีขางอกสูง
7 อบที่ 150c ไฟ บนล่าง แบบมีพัดลมกระจายความร้อน 
อบนาน 12-14 นาทีขึ้นอยู่กับขนาดของมาการอง

Note: สำหรับอุณหภูมิการอบของเอิงเปลี่ยนมาเป็น
140c ไปบน-ล่าง ไม่เปิดพัดลม อบประมาณ 17-18 นาที
เพราะเตาที่บ้านถ้าใช้อุณหภูมิสูงกว่านี้หน้าจะเกรียมนิดๆ
หรือถ้าเปิดพัดลมขาจะงอกสูง โพรงอากาศเยอะ บางทีบานออกข้าง งุงิ
เตาอบแต่ละคนไม่เหมือนกัน ต้องลองทำหลายแบบดูถึงจะเห็นผลค่ะ


***ใครที่มีปัญหาอบมาการองแล้วเนื้อไม่ฟู..ไม่เต็ม
ก็เพิ่มอุณหภูมิให้สูงขึ้นแต่ต้องลดระยะเวลาการอบด้วยค่ะ***


สูตร Rose Butter Cream
แยมกุหลาบ 50 กรัม
เนยจืดที่อุณหภูมิห้อง 50 กรัม
น้ำตาลทราย 10 กรัม
นมสด 2/3 ถ้วยตวง
แป้ง all purpose flour 1/2 ช้อนชา

- ผสมนมและแป้งในหม้อ นำขึ้นตั้งไฟอ่อนๆ คนตลอดเวลาจนเนื้อเริ่มข้น ปิดไฟ พักให้เย็น

- ตีเนยสปีดต่ำ ค่อยๆ ใส่ผสมน้ำตาลลงไป ตีจนเริ่มฟู
ตามด้วยส่วนผสมนมกับแป้งที่เย็นแล้ว ตีให้เข้ากัน
ใส่แยมกุหลาบ ตีต่อไปเรื่อยจนเนื้อส่วนผสมเริ่มเนียนเข้ากันดี
นำมาใส่ถุงบีบ ทำเป็นไส้ macarons



มาชมภาพกันดีกว่าค่ะ
ตีไข่ข่าว ค่อยๆ ผสมน้ำตาลละเอียดลงไป
















ตีไข่จนตั้งยอดเป็นเงา
ใส่สีผสมอาหาร (สีอะไรก็ได้ตามต้องการ)
ใช้สีฝุ่นแดง... เวิร์คกว่าสีที่เป็นน้ำเพราะพักแล้วเนื้อแห้งเร็ว



















ผสมอัลมอนด์บดละเอียดและน้ำตาลไอซิ่งที่ร่อนแล้วลงไป
ตะล่อมให้เข้ากัน ระวังอย่าตะล่อมมากเกินไป
ถ้าเนื้อเหลวจะใช้การไม่ได้ อบแล้วขาไม่งอกค่ะ
(เอาแบบหนืดๆ ไหลลงมาเป็นลาวา หยดแล้วเนื้อค่อยๆ ยุบ)

















ตอนก่อนอบลืมถ่ายรูป ... (ลืมอีกแว๊ว ขอโทษทีค่ะ)
มานึกได้ตอนอบเสร็จแล้ว 555+

Batch นี้มีใส่สีฝุ่นแดง ผสมสีน้ำเงินเข้าไปนิดๆ



















แยมกุหลาบ ส่วนผสมสำคัญสำหรับ Rose Butter Cream

















Macarons กับ Rose Butter Cream
เตรียมประกบทำรูปร่าง ^^



















ยืมกล่องจากร้าน Ladurée มาใส่หน่อย อิอิ

















Macarons ไส้ Rose Butter Cream
ลองทำอีกสีหนึ่ง ผสมสีแดงกับสีน้ำเงิน (ใส่สีน้ำเงินเยอะหน่อย)
ออกมาเป็นสีม่วง


















ลองทำสีเขียวอ่อนดูบ้าง



















Macarons สีเขียวเปลี่ยนไส้เป็น Lemon Curd



















แถมให้อีกแบบ Macarons ไส้ Lemon Curd
รสเปรี้ยว รสหวาน ตัดกันดี

















*ภาพของแถม*
เดือนที่แล้วร้าน Ladurée เอาใจคนรัก Hello Kitty
ออกแบบกล่องใส่ Macarons น่ารักๆ มีรูปน้องแมวชมพูอยู่ด้วย
เป็นเซ็ตที่ถูกใจหลายคนเลยค่ะ... จขบ. ซื้อมาเก็บไว้กล่องนึง อิอิ












Macarons ทำไม่ง่ายเลย ต้องยอมรับว่ายังมีอะไรให้เรียนรู้อีกเรื่อยๆ
ตอนนี้เริ่มรู้ใจกับเตาอบที่บ้านแล้ว อาจมีบล็อก macarons มาฝากกันอีก
ต้องขอบคุณ “พี่ปอนด์” น่าปังปอนด์อีกครั้ง
สำหรับข้อมูล คลิปวิดีโอในบล็อกที่อธิบายไว้ละเอียดมาก
ยิ่งอ่านยิ่งได้ความรู้ เทคนิคในการทำเยอะมากมาย
และขอบคุณคุณนก LoveParadise เป็นแรงบันดาลใจ
เข้าไปเยี่ยมชมบล็อกคุณนกได้นะคะ จะเห็น macarons สวยๆ หลายแบบเลย ^^




Updated News
(วันอาทิตย์ 20 พฤษภาคม 2555)
เช้ามืดวันอาทิตย์มีแผ่นดินไหวทางตอนเหนือของอิตาลี
มีเพื่อนๆ หลายคนถามถึงมา ตอนเกิดเห็นประมาณ 4.00 น.
เอิงตื่นเลยค่ะ รู้สึกบ้านสั่น โคลงเคลง กำลังคิดว่าตัวเองไม่สบายรึป่าว
หรือเราเวียนหัวเป็นอะไรเนี่ย บ้านสั่นนิดๆ อยู่ประมาณ 2-3 นาทีก็หยุด
(ส่วนคุณสามีไม่รู้เรื่องเลย รายนั้นหลับอุตุๆๆๆๆ)
ก็เลยไปนอนต่อ ตื่นมาตอนเช้าดูข่าวอีกที
แผ่นดินไหวใกล้เมือง Bologna ห่างจากมิลาน 250 km
ทางโน้นหนักพอสมควร มีผู้เสียชีวิตเท่าที่ทราบคือ 5 คน
ที่มิลานไม่มีรายงานความเสียหาย
หลายคนแทบไม่รู้สึกเพราะนอนหลับอยู่
สรุปแล้ว เอิงปลอดภัยดีนะคะ ขอบคุณมากสำหรับบางคนที่ถามข่าวมาค่ะ


อาหารประจำท้องถิ่น ภาคเหนือ: แกงฮังเล



ภาษาอิตาเลี่ยนวันละคำ วันนี้ขอเสนอคำว่า Maiale
อ่านว่า มา-ยา-เล (Stress คำว่า “ยา”)
ภาษาไทยแปลว่า หมู, เนื้อหมู
ภาษาอังกฤษ คือ Pork, Pig


*Note*
หลายครั้งคนอิตาเลี่ยนนิยมใช้คำว่า
Carne Suina (คาร์เน ซูอินา)
แปลว่า เนื้อหมูที่ขายในตลาด พร้อมทำเป็นอาหาร


สวัสดีพี่ๆ น้องๆ ชาวบล็อกแกงค์ทุกคนค่ะ
9W Magic การบ้านแม่มดกลับมาพบกับท่านอีกแล้ว
โจทย์ประจำเดือนพฤษภาคม 2555 ออกโดยแม่มดจากเบลเยี่ยม
“นัท” We Are From Belgium ได้ตั้งโจทย์ไว้ว่า
- ขอ"เมนูประจำภาคหรือประจำจังหวัด" เด่น ๆ
ที่พอเห็นก็จะรู้เลยว่าเป็นของภาคหรือจังหวัดนั้น ๆ
- จะเป็นเมนูคาว หวาน แซบ ปิ้ง ต้ม ย่าง แกง ฯลฯ
อะไรได้ทั้งนั้น ไม่จำกัด
- แต่เมนูดังกล่าว ต้องเป็นเมนูประจำภาคหรือจังหวัดไหนก็ได้
ที่ไม่ใช่ภาคหรือจังหวัดที่ตัวเองเกิดและเติบโตคะ


ปล. สำหรับหลายท่านอาจเกิดอีกจังหวัดแล้วไปโตอีกที่
อันนี้ก็ขอให้เลือกเอาภาคหรือจังหวัดที่ตัวเองอยู่นานที่สุด
เป็นถิ่นฐานของตัวเองแล้วกันนะคะ



ก่อนอื่นต้องขอแนะนำตัวเองก่อนนะคะว่าเป็น “คนปักษ์ใต้”
ขอเอ่ยนามพรรคพวกตัวเองหน่อย...
จังหวัดเดียวกับ สาว แม่บ้านครอว์ฟอร์ด, พี่พีช somjaidean100, พี่ปั้น Madame Kp
(สาว, พี่พีช, พี่ปั้น... ไม่ว่ากันนะคะ วันนี้เอาสาวใต้มาออกสื่อ 555+)
ได้โจทย์มาแล้วก็เกิดอาการปิ๊งๆๆๆๆ กับเมนูทางเหนือทันที
เพราะคุณเพื่อนที่อยู่มิลาน เอาเครื่องแกงฮังเลมาฝาก ได้ฤกษ์ทำซะที อิอิ
(ขอบคุณ "ผึ้ง" maria&pasta มากๆ จ้ะ^^)
แต่สูตรนี้เอิงเข้าไปดูในอินเตอร์เน็ต เจอมากมายหลายสูตร
เกิดอาการมึนเล็กน้อยไม่รู้จะเอาสูตรไหน เลยลองถามกูรูสาวเจียงใหม่ดีกว่า อิอิ
ไม่ใช่ใครที่ไหน “ป้าแอ๊ก” ปลาทอง9 นั่นเอง
ขอบคุณป้าแอ๊กมากๆ นะคะ สำหรับลิงค์สูตรที่ส่งมาให้
จากเวปไซต์เวปไซต์ “อาหารพื้นบ้านล้านนา”
ลิงค์สูตรแกงฮังเล http://library.cmu.ac.th/ntic/lannafood/detail_lannafood.php?id_food=10


แกงฮังเล - ส่วนผสม
1. เนื้อสันคอหมู 300 กรัม
2. เนื้อหมูสามชั้น 200 กรัม
3. น้ำอ้อยป่น 2 ช้อนโต๊ะ
(น้ำอ้อยป่นอันนี้ จขบ. ใส่น้ำอ้อยเฉยๆ ซื้อมาจากไชน่าทาวน์ในมิลาน)
4. น้ำมะขามเปียก 3 ช้อนโต๊ะ
5. ขิงซอย 1/2 ถ้วย
6. กระเทียม 1/2 ถ้วย
7. ถั่วลิสงคั่ว 2 ช้อนโต๊ะ
8. สับปะรด 2 ช้อนโต๊ะ
9. ผงฮังเล 2 ช้อนโต๊ะ
(ผงฮังเล แถมมากับเครื่องแกงฮังเลได้มาค่ะ)

เครื่องแกง
1. พริกแห้ง 7 เม็ด
2. พริกขี้หนูแห้ง 4 เม็ด
3. หอมแดง 3 หัว
4. กระเทียม 20 กลีบ
5. ตะไคร้ซอย 2 ช้อนโต๊ะ
6. ข่าซอย 1 ช้อนโต๊ะ
7. เกลือ 1 ช้อนชา
8. กะปิหยาบ 1/2 ช้อนโต๊ะ

หมายเหตุ --- เครื่องแกงจากเวปไซต์บอกส่วนผสมมา
แต่ในเอนทรี่นี้ใช้เครื่องแกงฮังเลสำเร็จรูปค่ะ

วิธีทำ
1. หั่นเนื้อหมูสันคอและหมูสามชั้นเป็นชิ้น ขนาด 1.5 x 1.5 นิ้ว
2. โขลกเครื่องแกงรวมกันให้ละเอียด
3. ผสมเครื่องแกง ผงฮังเล สับปะรด และเนื้อหมู คลุกเคล้าให้เข้ากัน หมักไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง
4. นำหมูที่หมักไว้มาตั้งไฟ ใส่น้ำเล็กน้อย ผัดจนกว่าหมูตึงตัว เคี่ยวต่อ คอยเติมน้ำเรื่อยๆ จนหมูนิ่มได้ที่
5. ใส่น้ำอ้อยป่น น้ำมะขามเปียก ใส่กระเทียม และขิงซอย คนให้เข้ากัน เคี่ยวต่อ
6. ใส่ถั่วลิสงคั่ว พอเดือดสักพัก ปิดไฟ

เคล็ดลับในการปรุง
การคั่วเครื่องแกง ใช้ไฟปานกลาง ใช้เนื้อกระท้อนแทนมะขามเปียกได้
ให้รสชาติเปรี้ยว และมีกลิ่นหอม

เคล็ดลับในการเลือกส่วนผสม
หมูสามชั้น ควรเลือกที่มันไม่หนาเกินไป หรือเลือกใช้ซี่โครงหมูแทน ก็ได้



มาชมภาพกันค่ะ
เครื่องแกงฮังเล ...แต่หน้าซองเขียนว่าเครื่องแกง “ฮินเล” ^^
ข้างในมีผงเครื่องแกงแถมมาให้ด้วย

















ขิง หั่นซอย... อันนี้แวะซื้อจากไชน่าทาวน์
ยังมีเหลืออีกเยอะ เดี๋ยวเอาไปทำบัวลอยน้ำขิงด้วยดีกว่า

















ถั่วลิสง ไว้ใส่ทีหลังตอนปรุงแกงในกระทะ
ส่วนสับปะรด หั่นเป็นชิ้นเล็ก ไว้หมักกับหมูและเครื่องแกงฮังเล

















เนื้อหมูหั่นเป็นชิ้นพอคำ ตามสูตรคือ 1.5x1.5 นิ้ว

















ผสมเครื่องแกง ผงฮังเล สับปะรด และเนื้อหมู
คลุกเคล้าให้เข้ากัน หมักไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง
หมายเหตุ --- ขั้นตอนนี้ทำต่างไปจากสูตรนิดนึง คือใส่ขิงซอยลงไปด้วย
แล้วแต่คนชอบนะคะ เอิงชอบกลิ่นขิงหมักพร้อมกับเนื้อหมู



















นำหมูที่หมักไว้มาตั้งไฟ ใส่น้ำเล็กน้อย ผัดจนกว่าหมูตึงตัว
เคี่ยวต่อ คอยเติมน้ำเรื่อยๆ จนหมูนิ่มได้ที่
ใส่น้ำอ้อยป่น น้ำมะขามเปียก ใส่กระเทียม และขิงซอย คนให้เข้ากัน เคี่ยวต่อ
ใส่ถั่วลิสงคั่ว พอเดือดสักพัก ปิดไฟ
















แกงฮังเล

















แกงฮังเล กับพร๊อพประดับฉากนิดนึง ^^
ที่บ้านที่ตุ๊กตาทองเหลืองอยู่ ขอเอามาถ่ายรูปหน่อย










Credit ข้อมูลจาก http://library.cmu.ac.th/ntic/lannafood/detail_lannafood.php?id_food=10

แกงฮังเลมี 2 ชนิด คือ แกงฮังเลม่าน และ แกงฮังเลเชียงแสน
เชื่อกันว่าเป็นอาหารที่ได้รับอิทธิพลมาจากพม่า
สำหรับแกงฮังเลเชียงแสนจะแตกต่างตรงที่มีถั่วฝักยาว มะเขือยาว
พริกสด หน่อไม้ดอง งาขาวคั่ว เพิ่มเข้ามา และใช้เป็นส่วนผสมของแกงโฮะ


@@@@@@@@@@


การบ้านวันนี้เป็นครั้งแรกที่ทำแกงฮังเลทานเองค่ะ
ปกติเคยแต่ไปทานในร้านอาหารเหนือในเมืองไทย
ทำครั้งแรกทานกับข้าวสวย อร่อยมากๆ โฮะ โฮะ
ชักติดใจ เดี๋ยวันหลังคงต้องทำทานอีกครั้งแน่นอน

ขอบคุณที่แวะมาทักทายกัน
ไว้เจอกันใหม่กับโครงการ
 9W Magic เดือนหน้าค่ะ